ไฟป่า(Wild Fire) คือ ไฟที่เกิดขึ้นแล้วลุกลามไปได้โดยปราศจากการควบคุมไฟป่าอาจเกิดขึ้นจากสาเหตุธรรมชาติหรือเกิดจากการกระทำของมนุษย์แล้วส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการดำรงชีวิตของมนุษย์ ไฟป่าที่เกิดขึ้นบริเวณภูขาจะมีความรุนแรงและขยายพื้นที่ได้เร็วกว่าพื้นราบ
1) ปัจจัยที่ทำให้เกิดไฟป่า เกิดจาก 2 สาเหตุ ดังนี้
1.1 เกิดจากธรรมชาติไฟป่าที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ เช่นฟ้าผ่า กิ่งไม้เสียดสีกัน ภูเขาไฟระเบิด ก้อนหินกระทบกัน แสงแดดตกกระทบผลึกหิน แสงแดดส่องผ่านหยดน้ำ ปฏิกิริยาเคมีในดินป่าพรุ การลุกไหม้ในตัวเองของสิ่งมีชีวิต (Spontaneous Combustion) แต่สาเหตุที่สำคัญ คือ
1.1.1 ฟ้าผ่า เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดไฟป่าในเขตอบอุ่น ในประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศแคนาดา
1.1.2 กิ่งไม้เสียดสีกัน อาจเกิดขึ้นได้ในพื้นที่ป่าที่มีไม้ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่นและมีสภาพอากาศแห้งจัด เช่น ในป่าไผ่หรือป่าสน เป็นต้น
2. สาเหตุจากมนุษย์
ไฟป่าที่เกิดในประเทศกำลังพัฒนาในเขตร้อนส่วนใหญ่จะมีสาเหตุมาจากกิจกรรมของมนุษย์ ดังนี้
2.1 เก็บหาของป่า เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดไฟป่ามากที่สุด การเก็บหาของป่าส่วนใหญ่ได้แก่ ไข่มดแดง เห็ด ใบตองตึง ไม้ไผ่ น้ำผึ้ง ผักหวาน และไม้ฟืน การจุดไฟส่วนใหญ่เพื่อให้พื้นป่าโล่ง เดินสะดวก หรือให้แสงสว่างในระหว่างการเดินทางผ่านป่าในเวลากลางคืน หรือจุดเพื่อกระตุ้นการงอกของเห็ด หรือกระตุ้นการแตกใบใหม่ของผักหวานและใบตองตึง หรือจุดเพื่อไล่ตัวมดแดงออกจากรัง รมควันไล่ผึ้ง หรือไล่แมลงต่างๆ ในขณะที่อยู่ในป่า
2.2 เผาไร่ เป็นสาเหตุที่สำคัญรองลงมา การเผาไร่ก็เพื่อกำจัดวัชพืชหรือเศษซากพืชที่เหลืออยู่ภายหลังการเก็บเกี่ยว ทั้งนี้เพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูกในรอบต่อไป ทั้งนี้โดยปราศจากการทำแนวกันไฟและปราศจากการควบคุม ไฟจึงลามเข้าป่าที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง
2.3 แกล้งจุด ในกรณีที่ประชาชนในพื้นที่มีปัญหาความขัดแย้งกับหน่วยงานของรัฐในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเรื่องที่ทำกินหรือถูกจับกุมจากการกระทำผิดในเรื่องป่าไม้ ก็มักจะหาทางแก้แค้นเจ้าหน้าที่ด้วยการเผาป่า
2.4 ความประมาท เกิดจากการเข้าไปพักแรมในป่า ก่อกองไฟแล้วลืมดับ หรือทิ้งก้นบุหรี่ลงบนพื้นป่า เป็นต้น
2.5 ล่าสัตว์ โดยใช้วิธีไล่เหล่า คือจุดไฟไล่ให้สัตว์หนีออกจากที่ซ่อน หรือจุดไฟเพื่อให้แมลงบินหนีไฟ นกชนิดต่างๆ จะบินมากินแมลง แล้วดักยิงนกอีกทอดหนึ่ง หรือจุดไฟเผาทุ่งหญ้า เพื่อให้หญ้าใหม่แตกระบัด ล่อให้สัตว์ชนิดต่างๆ เช่น กระทิง กวาง กระต่าย มากินหญ้า แล้วดักรอยิงสัตว์นั้นๆ
2)สถานการณ์การเกิดไฟป่า ในปี พ.ศ.2543 ถือว่าเป็นปีแรกที่มีการสำรวจสถิติไฟป่าในภาพรวมของทั้งโลกโดยใช้การแปลภาพถ่ายดาวเทียม จากรายงานชื่อ Global Burned Area Product 2000 พบว่าจากการวิเคราะห์เบื้องต้นมีพื้นที่ไฟไหม้ทั่วโลกใน พ.ศ. 2543 สูงถึงประมาณ 2,193.75 ล้านไร่ และนับวันสถานการณ์ไฟป่าก็ยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นตัวอย่างเช่น เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 ได้เกิดไฟป่าครั้งใหญ่ในประเทศออสเตรเลีย ทำให้มีผู้เสียชีวิต 173 คนบาดเจ็บมากกว่า 500 คน และมีผู้ไร้ที่อยู่อาศัยกว่า 7500 คน เป็นต้น
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นมนประเทศไทย และบริเวณใกล้เคียง ตั้งแต่วันที่ 1ตุลาคม 2549 ถึงวันที่ 17 มีนาคม 2550 ปฏิบัติงานดับไฟป่า จำนวน 5609 ครั้ง พื้นที่ถูกไฟไหม้ 87,290.3 ไร่ โดยท้องที่ภาคเหนือมีสถืติไฟไหม้มากที่สุด จำนวน 3,273 ครั้ง พื้นที่ถูกไฟไหม้ 36,626.8 ไร่
การตรวจติดตาม Hotspot (จุดที่คาดว่าจะเกิดไฟ) จากดาวเทียม Terra และ Aqua ด้วยระบบ MODIS พบว่า ตั้งแต่วันที่ 4-9 มีนาคม 2550 เกิด Hotspot ในภูมิภาคอินโดจีนและประเทศพม่า โดยมีแนวโน้มการเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2550 จนถึงปัจจุบัน โดยพบค่าสูงสุดในวันที่ 6มีนาคม 2550รวม 1,668 จุด วันที่ 4 และ 8 มีนาคม 2550 รวม 1,477 จุด และ 1,112 จุดตามลำดับ และจากการตรวจติดตาม Hotspot อย่างต่อเนื่องจนถึงวันที่ 17 มีนาคม 2550 พบว่า Hotspot มีจำนวนเหลือเพียง217 จุด สำหรับพื้นที่ภาคเหนือ จำนวน Hotspot มากที่สุดในวันที่ 6 มีนาคม 2550 จำนวน 944 จุด และในวันที่ 17 มีนาคม 2550 เหลือเพียง 59 จุด
3. ผลกระทบที่เกิดจากไฟป่า มีดังนี้
1.ลูกไม้ กล้าไม้เล็กๆ ในป่า ถูกเผาทำลาย หมดโอกาสเติบโตเป็นไม้ใหญ่ส่วนต้นไม้ใหญ่หยุดการเจริญเติบโต เนื้อไม้เสื่อมคุณภาพลง เป็นแผล เกิดเชื้อโรค และ แมลงเข้ากัดทำลายเนื้อไม้ สภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์เปลี่ยนสภาพเป็นทุ่งหญ้าไปในที่สุด
2.หมอกควันที่เกิดจากไฟป่าก่อให้เกิดผลกระทบทางด้านสภาวะอากาศเป็นพิษ ทำลายสุขภาพของคน เกิดทัศนวิสัยไม่ดีต่อการบิน บางครั้งเครื่องบินไม่สามารถบินขึ้นหรือลงจอดได้ ส่งผลให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ และสูญเสียสภาพความสวยงามตามธรรมชาติ ไม่เหมาะสำหรับท่องเที่ยวอีกต่อไป
3.ไฟป่าทำลายสิ่งปกคลุมดิน หน้าดินจึงเปิดโล่ง เมื่อฝนตกลงมาเม็ดฝนจะตกกระแทกกับหน้าดินโดยตรง เกิดการชะล้างพังทลายของดินได้ง่าย ทำให้น้ำที่ไหลบ่าไปตามหน้าดิน พัดพาหน้าดินอันอุดมสมบูรณ์ไปด้วย และดินอัดตัวแน่นทึบขึ้น การซึมน้ำไม่ดี ทำให้การอุ้มน้ำหรือดูดซับความชื้นของดินลดลง ไม่สามารถเก็บกักน้ำและธาตุอาหารที่จำเป็นต่อพืชได้
4.น้ำเต็มไปด้วยตะกอนและขี้เถ้าจากผลของไฟป่าจะไหลสู่ลำห้วยลำธาร ทำให้ลำห้วยขุ่นข้นมีสภาพไม่เหมาะต่อการนำมาใช้ เมื่อดินตะกอนไปทับถมในแม่น้ำมากขึ้น ลำน้ำก็จะตื้นเขิน จุนำได้น้อยลง เมื่อฝนตกลงมาน้ำจะเอ่อล้นท่วมสองฝั่งเกิดเป็นอุทกภัย สร้างความเสียหายในด้านเกษตร การเพราะปลูก การสัตว์เลี้ยง และสร้างความเสียหายเมื่อน้ำทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนทำให้ทรัพย์สินได้รับความเสียหาย หน้าแล้งพื้นดินที่มีแต่ตะกรวดทรายและชั้นดินแน่นทึบจากผลของไฟป่า ทำให้ดินไม่สามารถเก็บกักน้ำในช่วงฤดูฝนเอาไว้ได้ทำให้ลำน้ำแห้งขอดเกิดสภาวะแห้งแล้งขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และเพื่อการเกษตร
4) การระวังภัยจากไฟป่า การจัดการและการแก้ไขปัญหาไฟป่าอย่างครบวงจร เริ่มตั้งแต่การป้องกันไม่ให้เกิดไฟป่า โดยศึกษาหาสาเหตุของการเกิดไฟป่าแล้ววางแผนป้องกันหรือกำจัดต้นตอของสาเหตุนั้น แต่ไฟป่ายังมีโอกาสขึ้นได้เสมอ ดังนั้น จำเป็นต้องมีมาตรการอื่นๆ รองรับตามมา ได้แก่ การเตรียมการดับไฟป่า
การตรวจหาไฟ การดับไฟป่า และการประเมินผล การปฏิบัติงาน การปฏิบัติงานงานควบคุมไฟป่าแบ่งได้ 2 กิจกรรมหลักได้ ดังนี้
การตรวจหาไฟ การดับไฟป่า และการประเมินผล การปฏิบัติงาน การปฏิบัติงานงานควบคุมไฟป่าแบ่งได้ 2 กิจกรรมหลักได้ ดังนี้
4.1 การป้องกันไฟป่า สามารถดำเนินการได้ดังนี้
1.การรณรงค์ป้องกันไฟป่า ไฟป่าที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการกระทำของมนุษย์ ดังนั้นแนวทางการแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพที่สุดคือ การป้องกันไม่ให้ประชาชนจดไฟเผาป่าทั้งนี้อาจทำได้โดยการประชาสัมพันธ์ชี้แนะให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรป่าไม้ ความจำเป็นที่จะต้องดูแลรักษา ตลอดจนผลเสียที่จะเกิดขึ้นหากมีการบุกรุกทำลายหรือเผาป่า เพื่อให้ประชาชนเกิดทัศนคติที่ถูกต้อง เลิกจุดไฟเผาป่า และหันมาให้ความร่วมมือป้องกันไฟป่า การรณรงค์ป้องกันไฟป่าสามารถดำเนินการได้ในรูปแบบต่างๆ เช่น การประชาสัมพันธ์ สื่อมวลชน การติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์ การแจกจ่ายสิ่งตีพิมพ์และเอกสารเผยแพร่การจัดนิทรรศการ การให้การศึกษา การจัดฝึกอบรม ตลอดจนการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมด้านป่าไม้ เป็นต้น
2.การจัดการเชื้อเพลิง โดยการทำแนวกันไฟ และการกำจัดเชื้อเพลิงในพื้นที่ที่ล่อแหลมต่อการเกิดไฟป่า เช่น มีวัชพืชหนาแน่น พื้นที่ป่าสองข้างถนน ซึ่งมีโอกาสเกิดไฟป่าได้ง่าย เพื่อลดโอกาสการเกิดไฟป่าได้ง่าย เพื่อลดโอกาสการเกิดไฟป่า หรือหากเกิดไฟป่าขึ้นก็จะมีความรุนแรงน้อย สามารถควบคุมง่าย
4.2การปฏิบัติงานดับไปไฟป่า เป็นการปฏิบัติงานเพื่อควบคุมดับไฟป่า มิให้ลุกลามเผาทำลายต้นไม้ในกรณีที่เกิดไฟป่าขึ้นแล้ว ในปัจจุบันมีหน่วยปฏิบัติงานภาคสนามของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธ์พืช ที่ทำหน้าที่ในการดับไฟป่า คือ สถานีควบคุมไฟป่าที่อยู่ในทุกจังหวัด
ในส่วนของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าอยู่ในป่า มีส่วนสำคัญที่ก่อให้เกิดไฟป่าและมีส่วนสำคัญในการให้ความร่วมมือในการป้องกันไฟป่า ซึ่งสามารถทำได้ดังนี้
1.เมื่อทำการเผ่าไร่ในพื้นที่ควบคุมดูแลไฟไม่ให้ลุกลามเข้าไปในป่า และควรทำแนวป้องกันไฟป่าก่อนเผาทุกครั้ง
2. ไม่จุดไฟเผาป่าเพื่อล่าสัตว์ และไม่จุดไฟเล่นด้วยความสนุกหรือคึกคะนอง
3. ระมัดระวังการใช้ไฟ เมื่ออยู่ในป่าหรือพักแรมในป่า หากมีความจำเป็นต้องใช้ไฟ ควรดับไฟให้หมดก่อนออกจากป่า
4. เมื่อพบเห็นไฟไหม้ป่าหรือสวนป่า ให้ช่วยกันดับไฟป่าหรือแจ้งหน่วยราชการที่อยู่บริเวณใกล้เคียง
5. มีส่วนร่วมด้านการประชาสัมพันธ์ ชี้ให้เห็นความสำคัญของป่าไม้และความเสียหายที่เกิดจากไฟป่าและโทษที่จะได้รับ หรือเป็นอาสาสมัครป้องกันไฟป่า
6. ช่วยเป็นหูเป็นตาให้เจ้าหน้าที่ในการส่องดูแลไม่ให้เกิดไฟไหม้ป่ารวมทั้งช่วยจับกุมผู้ฝ่าฝืนมาลงโทษตามกฎหมาย เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่บุคคลอื่นต่อไป
อ้างอิง
____. ภัยพิบัติทางธรรมชาติ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก :
https://sites.google.com/site/naturaldanger245/home/fi-pa
(วันที่ค้นข้อมูล : 07 กุมภาพันธ์ 2561).