อุทกภัย (Flood) คือ ภัยที่เกิดจากน้ำท่วม ซึ่งเป็นน้ำที่ท่วมพื้นที่บริเวณใดบริเวณหนึ่งเป็นครั้งคราว เนื่องจากมีฝนตกหนักหรือหิมะละลาย ทำให้น้ำในลำน้ำหรือทะเลสาบไหลล้นตลิ่งหรือป่าลงมาจากที่สูง ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
1) ปัจจัยที่ทำให้เกิดอุทกภัย ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เกิดอุทกภัย มีดังนี้
1.1 ฝนตกหนักและต่อเนื่องยาวนาน เนื่องจากเกิดลมพายุ ลมมรสุมมีกำลังแรงหรือหย่อมความกดอากาศต่ำมีกำลังแรง ส่งผลให้ไม่สามารถระบายน้ำออกจากพื้นที่ได้ทัน
1.2 พื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม บริเวณพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำมักจะประสบปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี หากมีฝนตกหนักต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นพื้นที่ต่ำจึงไม่สามารถระบายน้ำออกไปได้
1.3 น้ำทะเลหนุน ถ้าหากมีน้ำทะเล ขึ้นสูงหนุนน้ำเข้าสู่ปากแม่น้ำจะทำให้น้ำเอ่อไหลล้นฝั่ง ทำให้เกิดน้ำท่วมบริเวณสองฝั่งแม่น้ำ
1.4 พื้นที่รองรับน้ำตื้นเขิน นับเป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดน้ำท่วม เพราะปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาแต่ละปีมีปริมาณไม่แตกต่างกัน แต่ตะกอนในท้องน้ำของแม่น้ำลำคลองและบึงมีมาก เมื่อถึงช่วงฤดูฝนที่มีปริมาณน้ำมากจึงไม่มีแหล่งกักเก็บจึงเอ่อท่วมพื้นที่ต่างๆ
1.5 สิ่งกีดขวางทิศทางการไหลของน้ำ ในอดีตน้ำฝนที่ตกลงสู่พื้นดินจะไหลโดยอิสระลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ แต่ในปัจจุบันได้มีสิ่งกีดขวางเส้นทางการไหลของน้ำทั้งในลำน้ำ เช่น ตะกอน สิ่งก่อสร้างริมลำน้ำ กระชังปลา ส่วนบริเวณบนพื้นดินมีการสร้างถนน อาคาร บ้านเรือน และพื้นที่เกษตรกรรมขวางทิศทางการไหลของน้ำ น้ำจึงไมสามารถไหลและระบายได้ จึงเกิดน้ำท่วมขึ้นตามพื้นที่ต่างๆ
ลักษณะภูมิประเทศที่เสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัย มีดังนี้
1. บริเวณที่ราบเนินเขา จะเกิดอุทกภัยแบบฉับพลัน น้ำไหลบ่าอย่างรวดเร็วและมีพลังทำลายสูง ลักษณะแบบนี้ เรียกว่า “น้ำป่า” เกิดขึ้นเพราะมีน้ำหลากจากภูเขา อันเนื่องจากมีฝนตกหนักบริเวณต้นน้ำ จึงทำให้เกิดน้ำหลากท่วมฉับพลัน
2. พื้นที่ราบลุ่มริมแม่น้ำและชายฝั่ง เป็นภัยพิบัติที่เกิดขึ้นช้าๆ จากน้ำล้นตลิ่ง เมื่อเกิดจะกินพื้นที่บริเวณกว้าง น้ำท่วมเป็นระยะเวลานาน
3. บริเวณปากแม่น้ำ เป็นอุทกภัยที่เกิดจากน้ำที่ไหลจากที่สูงกว่าและอาจจะมีน้ำทะเลหนุน ประกอบกับแผ่นดินทรุดจึงทำให้เกิดน้ำท่วมขังในที่สุด
2) สถานการณืการเกิดอุทกภัย ปัจจุบันน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในภูมิภาคต่างๆ ของโลกและที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมักเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน และเกิดรุนแรงขึ้น เนื่องจากมีฝนตกหนังต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน ตัวอย่างเช่น น้ำท่วมครั้งใหญ่ในสหรัฐอเมริกา เมื่อปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. 2552 ทำให้ประชาชนหลายพันคนในรัฐนอร์ทตาโคตาและมินนิโซตต้องอพยพออกจากบ้านเรือน และการเกิดน้ำท่วมฉับพลันในประเทศฟิลิปปินส์ ในช่วงเดือนกันยายน พ.ศ. 2552 นับเป็นภาวะน้ำท่วมครั้งรุนแรงที่สุดในกรุงมะนิลาในช่วงเวลา 42 ปี เนื่องจากอิทธิผลของพายุโซนร้อนกิสนา ทำให้มีผู้เสีชีวิตหลายร้อยคนและคนไร้ที่อยู่อาศัยจำนวนมาก เป็นต้น
ส่วนอุทกภัยในประเทศไทยมักเกิดในลักษณะน้ำท่วมฉับพลัน หรือน้ำป่า ทั้งนี้เนื่องจากมีการทำลายป่าไม้ เมื่อฝนตกน้ำจึงไหลช้าลงและเกิดน้ำท่วม เมื่อปริมาณน้ำมากขึ้นจะมีกำลังทำลายร้างสูง เช่น เมื่อวันที่ 11 สิงหาคา พ.ศ. 2544 มีพายุโซนร้อนเกิดขึ้นทำให้เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องในตำบลน้ำก้อ อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ทำให้ดินถล่มบนเขาและมีน้ำป่าไหลเข้าท่วมบ้านเรือน มีท่อนไม้และซากไม้ไหลลงมากับกระแสน้ำเกิดความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สิน มีผู้เสียชีวิต 125 คน นอกจากนี้ สถานการณ์น้ำท่วมก็ยังเกิดขึ้นทุกปีในพื้นที่ราบน้ำท่วมถึงของแม่น้ำชี แม่น้ำมูล แม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำต่างๆ
3) ผลกระทบที่เกิดจากอุทกภัย สามารถแบ่งอันตราย และความเสียหายที่เกิดจากอุทกภัย ได้ดังนี้
1. น้ำท่วมอาคารบ้านเรือน สิ่งก่อสร้างและสาธารณสถาน ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมาก บ้านเรือนหรืออาคารสิ่งก่อสร้างที่ไม่แข็งแรงจะถูกกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวพังทลายได้ คน สัตว์พาหนะ และสัตว์อาจได้รับอันตรายถึงชีวิตจากการจมน้ำตาย
2. เส้นทางคมนาคมและการขนส่ง อาจจะถูกตัดเป็นช่วงๆ โดยความแรงของกระแสน้ำ ถนนสะพานอาจจะถูกกระแสน้ำพัดให้พังทลายได้ สินค้าพัสดุที่อยู่ระหว่างการขนส่งจะได้รับความเสียหายมาก
3. ระบบสาธารณูปโภค จะได้รับความเสียหาย เช่น โทรศัพท์ ไฟฟ้า เป็นต้น
4. พื้นที่การเกษตรและการปศุสัตว์จะได้รับความเสียหาย เช่น พืชผล ไร่นา ที่กำลังผลิดอกออกผลบนพื้นที่ต่ำ อาจถูกน้ำท่วมตายได้ สัตว์พาหนะ สัตว์เลี้ยง ตลอดจนผลผลิตที่เก็บกักตุน หรือมีไว้เพื่อทำพันธุ์จะได้รับความเสียหาย ความเสียหายทางอ้อม จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยทั่วไป เกิดโรคระบาด สุขภาพจิตเสื่อม และสูญเสียความปลอดภัย เป็นต้น
4) วิธีปฏิบัติในการป้องกันตนเองจากอุทกภัย มีดังนี้
1.การวางแผนการใช้ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพควรกำหนดผังเมืองเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของตัวเมือง ไม่ให้กีดขวางทางไหลของน้ำ กำหนดการใช้ที่ดินบริเวณพื้นที่น้ำท่วมให้เป็นพื้นที่ราบลุ่มรับน้ำ เพื่อเป็นการหน่วงหรือชะลอการเกิดน้ำท่วม
2.ไม่บุกรุกทำลายป่าไม้และไม่ปลูกพืชไร่บนพื้นที่ภูเขาสูงชันเพราะจะขาดพื้นที่ดูดซับและชะลอการไหลของน้ำ ทำให้น้ำไหลลงสู่แม่น้ำ ลำห้วยได้อย่างรวดเร็ว
3. การเคลื่อนย้ายวัสดุจากที่ที่จะได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากน้ำท่วมให้ไปอยู่ในที่ปลอดภัยหรือที่สูง
4. การนำถุงทรายมาทำเขื่อน เพื่อป้องกันน้ำท่วม
5. การพยากรณ์และการเตือนภัยน้ำท่วมให้ประชาชนรับทราบล่วงหน้า เพื่อเตรียมป้องกัน
6. การสร้างเขื่อน ฝาย ทำนบ และถนน เพื่อเป็นการกักเก็บน้ำหรือเป็นการกั้นทางเดินของน้ำ เป็นต้น
ข้อควรปฏิบัติเมื่อเกิดอุทกภัย มีดังนี้
1. ตัดสะพานไฟ และปิดแก๊สหุงต้มให้เรียบร้อย
2. อยู่ในอาคารที่แข็งแรงและอยู่ที่สูงพ้นจากน้ำที่เคยท่วม
3. ทำร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ
4. ไม่ควรขับขี่ยานพาหนะฝ่าลงไปในกระแสน้ำหลาก
5. ไม่ควรเล่นน้ำหรือว่ายน้ำเล่นในขณะน้ำท่วม
6. ระวังสัตว์ที่มีพิษที่หนีน้ำท่วมขึ้นมาอยู่บนบ้าน และหลังคา กัดต่อย เช่น งู ตะขาบ
7. ติดตามเหตุการณ์อย่างใกล้ชิด เช่น สังเกตดินฟ้าอากาศ หรือติดตามคำเตือนที่เกี่ยวกับลักษณะอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา
8. เตรียมพร้อมที่จะอพยพไปในที่ปลอดภัยของชีวิตมากกว่าห่วงทรัพย์สิน
ข้อควรปฏิบัติหลังเกิดอุทกภัย มีดังต่อไปนี้
1. ขนส่งคนอพยพกลับภูมิลำเนา
2. ช่วยเหลือในการรื้อสิ่งปรักหักพัง ซ่อมแซมบ้านเรือน อาคาร ต่างๆ
3. ทำความสะอาดบ้านเรือน ถนนหนทางที่เต็มไปด้วยโคลน
4. ซ่อมแซมสาธารณูปโภค ให้กลับคืนสู่สภาพปกติโดยเร็วที่สุด
5. ซ่อมแซมถนน สะพาน และรางรถไฟ ให้กลับสู่สภาพเดิมให้เร็วที่สุด
6. การสงเคราะห์ผู้ประสบภัย จากหน่วงบรรเทาทุกข์ต่างๆ
7. การจัดการด้านสาธารณสุข เพื่อป้องกันโรคต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นภายหลัง
8. ช่วยเหลือสัตว์ต่างๆ ที่มีชีวิตอยู่
อ้างอิง
____. ภัยพิบัติทางธรรมชาติ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก :
https://sites.google.com/site/naturaldanger245/home/watphay
(วันที่ค้นข้อมูล : 07 กุมภาพันธ์ 2561).
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น